ทำไมเราจึงมีกลิ่นตัวต่างกันและสาเหตุที่ทำให้เรามีกลิ่นตัวแรง

ทำไมเราจึงมีกลิ่นตัวต่างกันและสาเหตุที่ทำให้เรามีกลิ่นตัวแรง

นอกจากเหงื่อและแบคทีเรียจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีกลิ่นที่รักแร้แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่เป็นตัวกระตุ้นและทำให้แต่ละคนมีกลิ่นที่แตกต่างกัน  อาทิ

วัย:

ในวัยเด็ก รักแร้จะยังไม่มีกลิ่นเนื่องจากต่อมเหงื่ออะโพครีนยังไม่ทำงาน เมื่อต่อมอะโพครีนเริ่มทำงาน ในช่วงวัยรุ่นจะขับเหงื่อที่มีลักษณะเหนียวข้น เป็นอาหารของเชื้อแบคทีเรียและที่มาของกลิ่น

ยีนและกรรมพันธุ์:

กรรมพันธุ์มีผลต่อกระบวนการเมแทบอลิซึมและความหนาแน่นของต่อมเหงื่อในร่างกายของแต่ละคน คนที่มีต่อมเหงื่อมากจะมีเหงื่อออกมาก จึงมีโอกาสเกิดความอับชื้นและกลิ่นตัวมากกว่า มีการศึกษาที่ระบุว่าสาเหตุที่ชาวแอฟริกันมีกลิ่นรักแร้ที่ฉุนกว่าชาวเอเชีย เนื่องมาจากยีน ABCC11 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการหลั่งสเตอรอยด์ฟีโรโมนและสารตั้งต้นของกลิ่นที่ต่อมอะโพครีนมีการแสดงออกมากกว่า

เพศ:

กลิ่นรักแร้ของเพศชายมักฉุนกว่าเพศหญิงเนื่องจากเหงื่อที่รักแร้ของเพศชายมีสารตั้งต้นที่ทำให้เกิดกลิ่นเมื่อถูกแบคทีเรียย่อยสลายในปริมาณที่สูงกว่าในเพศหญิง ดังนั้นเมื่ออยู่ในสภาวะที่แบคทีเรียเจริญดี จึงสามารถสร้างกลิ่นที่มีความเข้มข้นสูงกว่า

ชนิดและสัดส่วนของเชื้อแบคทีเรีย:

แบคทีเรียสแตฟิโลคอคคัส (Staphyloccus) และคอริเนแบคทีเรียม (Corynebacterium) เกี่ยวข้องโดยตรงกันการเกิดกลิ่น ชนิดและสัดส่วนของเชื้อแบคทีเรียที่ต่างกันในแต่ละบุคคลจึงมีส่วนให้แต่ละคนมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

สภาพอากาศ:

สภาพอากาศที่ร้อนและชื้น รวมทั้งการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้เหงื่อออกมาก เช่น การออกกำลังกาย ทำให้ผิวหนังเกิดความอับชื้น ซึ่งไปเร่งการเจริญของแบคทีเรียและการเกิดกลิ่นได้

ขนาดของร่างกาย:

คนที่รูปร่างใหญ่หรืออ้วนมักมีกลิ่นตัวแรง เนื่องจากโอกาสที่จะเกิดความอับชื้นของผิวหนังและการซ่อนเร้นของแบคทีเรียมากกว่า

สภาพอารมณ์:

ต่อมอะโพครีนไวต่อการกระตุ้นทางอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด, ความวิตกกังวล, ความกลัว, การกระตุ้นทางเพศ, และความเจ็บปวด ดังนั้นในขณะที่เกิดสภาวะทางอารมณ์เหล่านี้ ร่างกายจึงอาจปล่อยกลิ่นแรงกว่าปกติได้

ความสะอาด:

ความสะอาดของร่างกายเกี่ยวข้องโดยตรงกับปริมาณเชื้อแบคทีเรีย คนที่ไม่ใส่ใจต่อสุขอนามัยของผิวหนัง หรือเครื่องนุ่งห่มจึงมีโอกาสที่จะเกิดกลิ่นได้มากกว่า

อาหาร:

อาหารบางชนิดที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น พริก หรือเครื่องเทศ รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลเร่งการขับเหงื่อ จึงทำให้มีโอกาสเกิดความอับชื้นและกลิ่นมากขึ้น

 

รู้หรือไม่….กลิ่นตัวใช้ตามล่าอาชญากรได้?


นักนิติวิทยาศาสตร์ได้นำความรู้ที่ว่า กลิ่นตัวเป็นลักษณะเฉพาะของบุคคล มาประยุกต์ใช้ในการหาตัวอาชญากร ไม่ว่าจะเป็นวิธีใช้การจำกลิ่นของพยานมาชี้ตัวผู้กระทำผิด โดยเฉพาะในกรณีที่มีการสัมผัสใกล้ชิดแต่อาจไม่เห็นหน้าผู้ร้ายหรือเห็นไม่ชัดเจน หรือใช้ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบของสารเคมีในเหงื่อที่คนร้ายทิ้งไว้ในบริเวณที่เกิดเหตุ ว่าประกอบด้วยสารอะไรบ้าง และมีสัดส่วนเท่าไหร่ ไปเปรียบเทียบกับเหงื่อของผู้ต้องสงสัย

หลังจากรู้ที่มาของการเกิดกลิ่นและปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ กันแล้ว ตอนต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเคล็ดลับต่าง ๆ ในการบอกลากลิ่นรักแร้ เพื่อเผยกลิ่นหอมธรรมชาติอย่างมั่นใจกันค่ะ

 

เอกสารอ้างอิง:

Lam, T. H., Verzotto, D., Brahma, P., Ng, A. H. Q., Hu, P., Schnell, D., ... & Ong, M. (2018). Understanding the microbial basis of body odor in pre-pubescent children and teenagers. Microbiome, 6(1), 1-14.

Troccaz, M., Borchard, G., Vuilleumier, C., Raviot-Derrien, S., Niclass, Y., Beccucci, S., & Starkenmann, C. (2009). Gender-specific differences between the concentrations of nonvolatile (R)/(S)-3-methyl-3-sulfanylhexan-1-Ol and (R)/(S)-3-hydroxy-3-methyl-hexanoic acid odor precursors in axillary secretions. Chemical senses, 34(3), 203-210.

 


Visitors: 1,069,191