เรื่องของสิว ที่ไม่ใช่เรื่องสิว ๆ ตอนที่ 2

 

เรื่องของสิว...ที่ไม่ใช่เรื่องสิว ๆตอนที่ 2

ควรทำความสะอาดอย่างไรในบริเวณที่เป็นสิว?

สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงเพื่อการล้างหน้าที่สะอาดหมดจดและไม่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบเพิ่ม คือ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างใกล้เคียงกับผิวหนัง (pH balance) คือเป็นกรดอ่อน ๆ ที่ pH ประมาณ 5.5 เนื่องจากไม่ทำให้ผิวหนังแห้งตึงหรือเกิดการระคายเคือง และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ น้ำหอม และสาร SLS น้ำที่ใช้ควรมีอุณหภูมิเหมาะสม ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป และควรหลีกเลี่ยงการขัดถูหน้าแรง ๆ ระหว่างการล้างหน้า เพราะอาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดสิวได้

 

ยาทารักษาสิวที่ใช้ทางการแพทย์แผนปัจจุบันมีอะไรบ้าง?

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาสิวนั้นมีให้เลือกมากมายหลากหลายยี่ห้อและรูปแบบ ทั้งเจล ครีม หรือโลชั่น จนเลือกซื้อไม่ถูกกันเลยทีเดียว ซึ่งส่วนประกอบแต่ละชนิดของแต่ละผลิตภัณฑ์ก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป การเลือกใช้ให้เหมาะสมกับประเภทและความรุนแรงของสิวจึงเป็นวิธีที่น่าจะให้ประสิทธิผลสูงสุด อยากรู้แล้วใช่มั้ยคะว่ายาหรือสารเคมีกลุ่มไหนใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไรกันบ้าง

เริ่มกันเลยกับกลุ่มแรก คือ กลุ่มสารอนุพันธ์ของวิตามินเอ หรือที่เรียกว่า เรตินอยด์ (retinoids) สารกลุ่มเรตินอยด์ที่นิยมใช้ในการรักษาสิวมีหลายชนิด อาทิ เตรทติโนอิน (tretinoin), อะดาพาลีน (adapalene), และทาซาโรทีน (tazarotene) มีสรรพคุณช่วยลดการเกิดคอมิโดน ต้านการอักเสบ และชะลอการแบ่งตัวที่มากเกินไปของเซลล์ผิวคีราติโนไซต์ อย่างไรก็ตามการใช้เรตินอยด์บางตัวก็อาจมีผลข้างเคียง เช่น ทำให้ผิวหนังแห้ง ลอก เกิดการระคายเคือง หรือไวต่อแสงแดดได้

ถัดมาคือ กรดซาลิไซลิก (salicylic acid) หรือ BHA ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสารยอดนิยมที่มักพบในยาทาสิว เนื่องจากกรดซาลิไซลิกมีคุณสมบัติในการสลายโปรตีนเคราติน (keratin) ซึ่งเป็นองค์ประกอบของผิวหนังชั้นนอก และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้เล็กน้อย กรดซาลิไซลิกจึงถูกใช้เพื่อเร่งการผลัดเซลล์ผิวและช่วยสลายคอมิโดน

กลุ่มที่สาม คือยาปฏิชีวนะ (antibiotics) ใช้ในวัตถุประสงค์เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Cutibacterium acnes มักใช้ในกรณีที่พบการอักเสบของสิวตั้งแต่ระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ตัวอย่างยาปฏิชีวนะที่นิยมใช้ในการรักษาสิว อาทิ อีริโทรไมซิน (erythromycin) และคลินดาไมซิน (clindamycin) ยาทั้งสองชนิดมีฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนของแบคทีเรีย เมื่อเจ้า C. acnes สร้างโปรตีนไม่ได้ สุดท้ายมันก็จะตาย แม้ว่าการใช้ยาปฏิชีวนะจะให้ผลดี แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาดื้อยาสูงเช่นกัน สอดคล้องกับผลการวิจัยที่พบว่าโอกาสการพบแบคทีเรีย C. acnes สายพันธุ์ที่ทนต่อยาปฏิชีวนะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระยะหลัง ๆ และการใช้ยาปฏิชีวนะโดยเฉพาะยาอีริโทรไมซินกับเจ้าแบคทีเรียชนิดนี้ก็เริ่มจะไม่ค่อยได้ผล ยังมีสารเคมีอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญ (bacteriostatic) ของ C. acnes ได้เช่นกัน โดยไม่ต้องกังวลกับปัญหาเชื้อดื้อยา อาทิ เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (benzoyl peroxide), กรดอะเซลาอิก (azelaic acid), สังกะสี (zinc), และกำมะถัน (sulfur)

สุดท้ายคือการใช้ วิตามิน B3 (niacinamide) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งซีบัมของเซลล์ซีโบไซต์ในต่อมไขมัน มีผลให้ความมันบนใบหน้าลดลง นอกจากนั้นยังสามารถต้านการอักเสบได้ดีอีกด้วย

 

ผลิตภัณฑ์รักษาสิวทางการแพทย์ทางเลือกมีอะไรบ้าง?

                มีงานวิจัยจำนวนมากทั้งในประเทศไทยและระดับนานาชาติที่รายงานว่าการแพทย์ทางเลือกเป็นอีกแนวทางในการรักษาสิว มีหลายการศึกษาที่พบว่าพืช สมุนไพร และวัตถุดิบธรรมชาติบางชนิดสามารถยับยั้งการเจริญของ C. acnes ต้านการอักเสบ และเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวได้ อาทิ

  • ชาเขียว (green tea) เนื่องจากในชาเขียวมีสารประกอบฟีนอลิกในประมาณที่สูงจึงทำให้ชาเขียวมีคุณสมบัติที่ดีมากมายทั้งการต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ และต้านเชื้อแบคทีเรีย การทดสอบโดยทาผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารสกัดชาเขียวเข้มข้น 3% บริเวณแก้มของอาสาสมัครอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 60 วัน พบว่าต่อมไขมันบริเวณที่ทดสอบมีการผลิตซีบัมลดลงอย่างเห็นได้ชัด  
  • แร่ธาตุ (minerals) แร่ธาตุได้ถูกนำมาใช้ในการสมานบาดแผลและรักษาโรคผิวหนังตั้งแต่สมัยโบราณ แร่ธาตุที่นำมาใช้ในทางเวชสำอางมักอยู่ในรูปของ แร่ดิน หรือที่เรียกว่า เคลย์มิเนรอล (clay minerals) ซึ่งโดยทั่วไปมักถูกนำมาผสมเป็นโคลนสำหรับพอกหน้า (mask clay) มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสิวอักเสบ สิวหัวดำ และจุดด่างดำ
  • น้ำมันโหระพา (Thai basil oil) มีการศึกษาวิจัยที่พบว่าน้ำมันโหระพาสามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย C. acnes ได้ โดยการทาผลิตภัณฑ์ที่ผสมน้ำมันโหระพาช่วยให้จำนวนสิวลดลงได้เร็วการการใช้โลชั่นที่ผสมเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์เข้มข้น 10% เสียอีก
  • น้ำมันทีทรี (Tea tree oil) เป็นน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากส่วนใบของต้นทีทรี (Melaleuca alternifolia) ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศออสเตรเลีย มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย และต้านการอักเสบของสิว การทดสอบโดยใช้เจลที่ผสมน้ำมันทีทรีเข้มข้น 5% กับอาสาสมัคร พบว่าสามารถลดจำนวนสิวทั้งประเภทสิวอักเสบและไม่อักเสบได้เป็นอย่างดี
  • สารสกัดจากเปลือกมังคุด (Gacinia mangostana extract) สารสกัดจากเปลือกมังคุดได้ถูกใช้ในการรักษาอาการอักเสบของผิวหนัง รวมถึงการติดเชื้อและปัญหาสิวมาเป็นเวลานาน ซึ่งสารสำคัญที่ทำให้เปลือกมังคุดมีความพิเศษกว่าพืชอื่น ๆ คือ สารประกอบแอลฟ่า-แมงโกสติน (α-Mangostin) สารประกอบชนิดนี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และต้านการเจริญของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ C. acnes ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิว การทดลองใช้สารประกอบแอลฟ่า-แมงโกสตินเพื่อการรักษาสิวในอาสามาสมัครจำนวน 10 คน พบว่าความรุนแรงของสิวลดลงอย่างมีนัยสำคัญภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์
  • น้ำผึ้งมานูก้า (manuka honey) เป็นน้ำผึ้งที่ได้จากเกสรดอกมานูก้า (Leptospermum scoparium) ซึ่งเป็นไม้พุ่มที่พบในประเทศนิวซีแลนด์และทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย น้ำผึ้งมานูก้าอุดมไปด้วยโปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ และสารออกฤทธิ์ต่าง ๆ ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของสิว ต้านอนุมูลอิสระ สมานบาดแผล และฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ดี สาเหตุที่ทำให้น้ำผึ้งจากเกสรดอกมานูก้ามีความโดดเด่นคือ การที่มีสารประกอบเมทิลไกลออกซาล (methylglyoxal) ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและต้านการอักเสบในปริมาณที่สูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป

 

 

ที่มา

Fox, L., Csongradi, C., Aucamp, M., Du Plessis, J., & Gerber, M. (2016). Treatment modalities for acne.

Molecules, 21(8), 1063.

Pan-In, P., Wongsomboon, A., Kokpol, C., Chaichanawongsaroj, N., & Wanichwecharungruang, S. (2015). Depositing α-mangostin nanoparticles to sebaceous gland area for acne treatment. Journal of pharmacological sciences, 129(4), 226-232.


 

Visitors: 1,075,597