รังแค คืออะไร

รังแค คืออะไร

รังแค หรือขี้รังแค (dandruff) เป็นชื่อเรียกของขุยหรือสะเก็ดสีขาวบนหนังศีรษะ รังแคเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปและไม่ถือเป็นโรคติดต่อ ตามปกติเซลล์หนังผิวหนังของคนเราจะใช้เวลาประมาณ 28 วันในการผลัดเปลี่ยนและหลุดลอกออก แต่หนังศีรษะของผู้ที่มีปัญหารังแคจะมีวงจรการสร้างและผลัดเซลล์ผิวที่เร็วกว่าผิดปกติ เซลล์ผิวหนังจึงมีการหลุดลอกมากจนสามารถมองเห็นเป็นสะเก็ดหรือแผ่นแบนสีขาวหรือเหลืองได้ด้วยตาเปล่า และอาจพบอาการคันหนังศีรษะหรือมีผมร่วงร่วมด้วย

รังแคเมื่อถูกขยายด้วยกล้องจุลทรรศน์มีหน้าตาอย่างไร?

หากนำเกล็ดรังแคไปส่องขยายใต้กล้องจุลทรรศน์จะเห็นเป็นกลุ่มของเซลล์ผิวหนังคอร์นีโอไซต์ (corneocyte) ซึ่งเป็นเซลล์ชั้นนอกสุดของหนังกำพร้าที่ตายแล้วเกาะอยู่รวมกัน โดยแต่ละเกล็ดของรังแคจะมีขนาดและรูปร่างหลากหลายแตกต่างกันไป

ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดรังแค?

คำว่ารังแคในภาษาอังกฤษคือ Dandruff มีต้นกำเนิดจากทางตอนใต้และตะวันออกของสหราชอาณาจักร เป็นการผสมของคำว่า “tan” ซึ่งแปลว่า “การอักเสบของผิวหนัง” และ “drof” ซึ่งแปลว่า “สกปรก” แต่ในความจริงแล้วรังแคไม่ได้มีสาเหตุโดยตรงจากความสกปรก แม้แต่คนที่สระผมทุกวันก็ยังพบว่ามีปัญหารังแคได้เช่นหัน แต่ความสกปรกเป็นตัวการของความมันที่สะสมบนหนังศีรษะซึ่งไปกระตุ้นการเกิดรังแคได้ ปัจจัยกระตุ้นการเกิดรังแคยังมีอีกหลายประการ อาทิ โรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์ม (Seborrhoeic dermatitis หรือ SebDerm), เชื้อราบนหนังศีรษะ, การหลั่งไขมันที่มากผิดปกติของต่อมไขมัน,การสัมผัสกับแสงแดดที่มากเกินไป, หรือผลข้างเคียงจากอาการแพ้ เป็นต้น

รังแค,เซ็บเดิร์ม,และยีสต์ เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

เซ็บเดิร์มเป็นความผิดปกติของต่อมไขมันที่ผิวหนัง จึงมักพบในบริเวณที่มีต่อมไขมันหนาแน่น เช่น ใบหน้าและหนังศีรษะมีผลทำให้ผิวหนังอักเสบเป็นผื่นแดงและเกิดรังแค สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่แน่ชัด แต่สามารถถูกระตุ้นได้จากหลายปัจจัย อาทิ การเจริญที่มากผิดปกติของยีสต์ Malasseziaซึ่งเป็นจุลินทรีย์ประจำถิ่นที่ผิวหนัง, ความไม่สมดุลของฮอร์โมน, และความเครียด เป็นต้น อย่างไรก็ตามมีหลักฐานหลายชิ้นที่บ่งชี้ว่าปริมาณของยีสต์ Malasseziaที่เพิ่มขึ้นมีความสัมพันธ์กับการเกิดรังแคและเซ็บเดิร์มการควบคุมปริมาณของยีสต์และราจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ในการขจัดรังแคและรักษาเซ็บเดิร์ม

เทคนิคการดูแลหนังศีรษะเมื่อมีปัญหารังแค

1. ใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของสารที่ช่วยขจัดรังแค (anti-dandruff shampoo) อาทิ

- ซิงค์ไพริไธโอน (zinc pyrithione): มีคุณสมบัติต้านเชื้อรา จึงช่วยลดปริมาณของยีสต์ที่เป็นสาเหตุของรังแคบนหนังศีรษะได้ อย่างไรก็ตามควรทดสอบอาการแพ้และระคายเคืองก่อนใช้ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดการแพ้ได้

- กรดซาลิไซลิก (salicylic acid): มีคุณสมบัติช่วยผลัดเซลล์ผิว, ลดการอักเสบ, และขจัดน้ำมันส่วนเกินที่ผิวหนัง แต่อาจมีผลข้างเคียงทำให้หนังศีรษะแห้งได้จึงควรใช้ครีมนวดผมทุกครั้งหลังการสระผม

- เซเลเนียมซัลไฟด์ (selenium sulfide): มีคุณสมบัติต้านเชื้อจุลชีพ, ชะลอการผลัดเซลล์ผิว, ลดอาการคัน, การอักเสบ, ผื่นแดง, และรังแค ควรล้างแชมพูออกให้หมดจดเนื่องจากเซเลเนียมซัลไฟด์มีผลต่อสีผม และไม่ควรใช้ขณะที่หนังศีรษะมีบาดแผลหรืออักเสบ

- คีโตโคนาโซล (ketoconazole): เป็นตัวยาที่เป็นที่รู้จักด้านประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อราบนหนังศีรษะ ช่วยลดรังแค และอาการคันบนหนังศีรษะและเนื่องจากคีโตโคนาโซลไม่ถูกดูดซึมผ่านทางหนังศีรษะจึงมีผลข้างเคียงน้อยมากสามารถใช้ได้กับทุกเพศทุกวัยข้อ คำแนะนำทั่วไปในการใช้แชมพูที่มีตัวยาคีโตโคนาโซลเข้มข้น 2% คือ ใช้สระผมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ต่อเนื่อง 2-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงลดลงเป็นอาทิตย์ละครั้ง จนกระทั่งหายจากรังแค

- น้ำมันดิน (coal tar): เป็นตัวยาเก่าแก่ที่ใช้รักษารังแค, อาการคัน, และหนังศีรษะลอก เนื่องจากน้ำมันดินมีคุณสมบัติช่วยผลัดเซลล์ผิวชั้นบนและชะลอการเจริญของเซลล์ผิวด้านล่างอย่างไรก็ตามน้ำมันดินมีประสิทธิภาพน้อยกว่าตัวยาชนิดอื่น, มีกลิ่นค่อนข้างแรง, และอาจมีผลข้างเคียงให้สีผมอ่อนลงหรือทำให้ผมแข็งกระด้าง จึงควรใช้ครีมนวดผมหลังการสระผมทุกครั้งเพื่อบำรุงเส้นผม

2. ใช้แชมพูขจัดรังแคบ่อยครั้งตามระยะเวลาที่ผู้ผลิต, เภสัชกร, หรือแพทย์ผิวหนังแนะนำ และควรนวดแชมพูกับหนังศีรษะอย่างน้อย 5 นาทีก่อนล้างออก

3. ไม่ควรสระผมด้วยน้ำที่ร้อนเกินไป เนื่องจากจะทำให้หนังศีรษะแห้งและเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้ง่าย

4. ล้างแชมพูขจัดรังแคออกให้หมด เพื่อป้องกันการตกค้างของสารเคมีต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้

5. หากปัญหารังแคไม่ทุเลาภายใน 4-6 สัปดาห์ หรือมีอาการอักเสบและคันมากขึ้นควรไปพบแพทย์ เนื่องจากการหลุดลอกของหนังศีรษะที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นๆเช่น โรคสะเก็ดเงิน หรือการแพ้สารเคมี ได้เช่นกัน

 

สมุนไพรขจัดรังแค

มีน้ำมันหอยระเหย (essential oil) หลายชนิดที่ได้รับการยืนยันว่าสามารถขจัดรังแคได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ น้ำมันจากทีทรี (Melaleuca alternifolia  หรือ tea tree), ผิวมะกรูด(Citrus bergamia หรือ bergamot), เปปเปอร์มินต์ (Mentha x piperita), และตะไคร้ (Cymbopogon flexuosus หรือ lemongrass) เป็นต้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากน้ำมันหอยระเหยเข้มข้นมีฤทธิ์ก่อการระคายเคืองที่ผิวหนัง จึงควรเจือจางด้วยน้ำมันตัวพาหรือน้ำมันกระสายยา (carrier oil) เช่น น้ำมันมะพร้าว, โจโจบาร์ออยล์, และอาร์แกนออยล์ เสียก่อนเพื่อการใช้อย่างปลอดภัย จากนั้นจึงนวดชโลมให้ทั่วหนังศีรษะเป็นเวลา 15 นาที แล้วจึงล้างออก

ที่มา: Piérard‐Franchimont, C., Xhauflaire‐Uhoda, E., & Piérard, G. E. (2006). Revisiting dandruff. International journal of cosmetic science, 28(5), 311-318.

Van Wyk, H. (2015). Treatment options for dandruff. SA Pharmacist's Assistant, 15(4), 28-29.

รังแค คืออะไร 

 

หนังศีรษะของคนเราประมาณ 28 วันจะเกิดการผลัดเปลี่ยนเซลล์ ให้ชั้นบนสุดที่ตายแล้วออกไป เป็นขุยขาวๆ แต่ก็มีปัยจัยบางอย่าง เช่น การใช้สารเคมี เชื้อรา ทำให้ถูกเร่งออกมาเร็วกว่าปกติจนเป็นขุยขาวๆ หรือ หลุดเป็นแผ่นๆ บางท่านมีอาการคันร่วมด้วยนะ

 

 

เพิ่มเพื่อน
Visitors: 1,063,076