เรื่องของสิว ที่ไม่ใช่เรื่องสิว ๆ ตอนที่ 3

 

เรื่องของสิว...ที่ไม่ใช่เรื่องสิว ๆ ตอนที่ 3

จุลินทรีย์ประจำถิ่นบนผิวหนังมนุษย์

เชื้อจุลินทรีย์ที่มักจะพบได้ทั่วไปบนผิวหนังของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีผิวปกติหรือมีปัญหาสิวมีอยู่ 3 ชนิด คือ 1.แบคทีเรีย Staphylococcus epidermidis 2. แบคทีเรีย Cutibacterium acnes (ชื่อเดิมคือP. acnes) และยีสต์ Malassezia (เดิมคือ Pityrosporum) หากเปรียบเทียบกันด้านปริมาณจะพบว่าแบคทีเรีย C. acnesเป็นจุลินทรีย์ที่พบมากที่สุดบนผิวหนังมนุษย์ และถูกรายงานว่ามีความเกี่ยวข้องกับการเกิดสิวมากกว่าจุลินทรีย์ที่เหลือทั้ง 2 กลุ่ม

 

 

 

มาทำความรู้จักกับเจ้าแบคทีเรียS. epidermidis และยีสต์ Malasseziaกัน

S. epidermidis เป็นแบคทีเรียแกรมบวก รูปร่างกลมและมักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเหมือนพวงองุ่น S. epidermidisจัดเป็นแบคทีเรียตัวดีที่ไม่ทำอันตรายต่อผิวหนังมนุษย์แต่กลับมีคุณสมบัติด้านโพรไบโอติก (probiotic) โดยการผลิตสารที่ไปยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย C. acnes ต้นเหตุของสิวอักเสบ ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าแบคทีเรีย S. epidermidis ยังสามารถสร้างกรดไขมันบิวเทริก (butyric acid) ที่คุณสมบัติในการต้านการอักเสบของผิวหนังหลังการได้รับรังสียูวีได้อีกด้วย

ยีสต์ในกลุ่มมาลาสซีเซีย (Malassezia) เป็นยีสต์ที่ชอบไขมัน ซึ่งโดยปกติจัดเป็นเชื้อประจำถิ่นแต่หากมีปริมาณมากผิดปกติอาจก่อให้เกิดโรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา หรือที่เรียกว่าสิวเชื้อรา หรือสิวยีสต์ ได้ สิวเชื้อรามีลักษณะเป็นผดผื่นแดงคล้ายสิว แต่ต่างจากสิวตรงที่ไม่มีลักษณะของการอุดตัน (comedone) และมักมีอาการคันร่วมด้วย สิวเชื้อรามักเกิดกับผู้ที่อาศัยในบริเวณที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น ผู้ที่มีเหงื่อออกง่าย หรือช่วงที่ต้องทำกิจกรรมมากขึ้น เช่น การออกกำลังกาย

C. acnesคืออะไร?

C. acnesเป็นแบคทีเรียแกรมบวก มีรูปร่างแบบท่อน และเจริญเติบโตช้า C. acnesไม่ต้องการออกซิเจนในการเจริญ แต่ก็สามารถทนต่อสภาวะที่มีออกซิเจนได้ (aerotolerant anaerobic bacteria) จึงสามารถพบแบคทีเรียชนิดนี้ได้ทั่วไปทั้งบนผิวหนังปกติและผิวหนังที่มีปัญหาสิว ไล่ตั้งแต่ภายในรูขุมขนจนถึงผิวหนังชั้นนอก  แต่จะพบได้มากที่สุดภายในรูขุมขนที่เชื่อมต่อกับต่อมไขมัน เนื่องจากมีไขมันที่เป็นอาหารโปรดของเจ้าแบคทีเรียชนิดนี้อยู่ในปริมาณมาก การติดเชื้อ C. acnes อาจเกิดที่อวัยวะอื่น ๆ เช่น หลอดลม กระจกตา และลิ้นหัวใจ ได้เช่นกัน โดยมีรายงานการพบเจ้าแบคทีเรีย C. acnes เป็นเชื้อฉวยโอกาสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อหลังการผ่าตัดด้วยเช่นกัน

C. acnesเกี่ยวข้องกับการอักเสบของสิวอย่างไร?

เมื่อC. acnes อยู่ในสภาวะที่เหมาะกับการเจริญเติบโต มันจะหลั่งเอนไซม์ไลเปส (Lipase) เพื่อไปย่อยซีบัมให้เป็นกรดไขมันและกลีเซอรอล แล้วจึงใช้กรดไขมันเป็นอาหาร มีผลการศึกษาวิจัยที่ระบุว่ากรดไขมันและกลีเซอรอลที่ถูกสร้างขึ้นโดยเจ้าแบคทีเรีย C. acnes นั้นจะไปส่งเสริมให้เกิดการอุดตันในท่อรูขุมขน และกลายเป็นสิวอุดตัน นอกจากเอนไซม์ไลเปสแล้วยังมีเอนไซม์ชนิดอื่น ๆ ที่เจ้าแบคทีเรียตัวนี้สร้างขึ้นระหว่างการเจริญที่ฤทธิ์ทำลายเซลล์ผิว หรือทำให้เซลล์ผิวไม่แข็งแรง ซึ่งเศษซากของเซลล์ผิว แบคทีเรียที่ตาย รวมทั้งสารประกอบเคมีต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าแบคทีเรีย C. acnes สร้างขึ้นระหว่างการเจริญ ยังสามารถเป็นตัวกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และเป็นสาเหตุของการอักเสบได้อีก

 

 

ที่มา

Bhatia, A., Maisonneuve, J. F., & Persing, D. H. (2004, June). Propionibacterium acnes and chronic diseases. In The Infectious Etiology of Chronic Diseases: Defining the Relationship, Enhancing the Research, and Mitigating the Effects: Workshop Summary., Knobler, SL et al.(eds.) (pp. 74-80).

Wang, Y., Kuo, S., Shu, M., Yu, J., Huang, S., Dai, A., ... & Huang, C. M. (2014). Staphylococcus epidermidis in the human skin microbiome mediates fermentation to inhibit the growth of Propionibacterium acnes: implications of probiotics in acne vulgaris. Applied microbiology and biotechnology, 98(1), 411-424.

Visitors: 1,075,591