ซิลิโคน ในครีมนวดผม...พระเอก หรือ ตัวร้ายกันแน่?

ซิลิโคน ในครีมนวดผม...พระเอก หรือ ตัวร้ายกันแน่?

เป็นที่ทราบกันดีว่าทรงผมและสุขภาพของเส้นผมเป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมทั้งความงามของใบหน้า บุคลิกภาพ และแม้กระทั่งโหงวเฮ้งของเราได้ ผมที่สะอาด นุ่มสลวย และเงางามจึงเป็นยอดปรารถนาของสาว ๆ (และหนุ่ม ๆ) ในทุกยุคทุกสมัย รู้มั้ยว่านวัตกรรมการผสมซิลิโคนในผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมเพื่อช่วยให้ผมมีน้ำหนักและเงาสลวยมีมานานกว่า 70ปีแล้วนะคะแต่ในระยะหลังได้มีการถกเถียงกันมากขึ้นว่า เจ้าซิลิโคนที่เคยถูกมองว่าเป็นพระเอกแท้ที่จริงแล้วอาจเป็นตัวร้ายที่ทำให้ผมลีบแบนและเป็นสาเหตุของผมร่วง แต่ฝ่ายที่ยังคงเชื่อว่าซิลิโคนเป็นพระเอกก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกันค่ะ วันนี้พวกเราชาวไบโอเดอเนชจึงอาสามาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับซิลิโคนในผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม โดยอ้างอิงจากเอกสารทางวิชาการและหลักฐานต่าง ๆ ที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน มาให้คุณผู้อ่านได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลเส้นผมกันค่ะ

ซิลิโคน คืออะไร?

ซิลิโคน (silicone) คือ โพลิเมอร์สังเคราะห์ที่ในโครงสร้างมีโมโนเมอร์ซิโลเซน  (siloxane) จำนวนมากเชื่อมต่อกันเป็นสายยาว ซิลิโคนจึงถูกเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า โพลิซิโลเซน (polysiloxane)ซิลิโคนมีลักษณะข้นหนืดเหมือนน้ำมันหรือยาง และใสไม่มีสี มักเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ครีมบำรุงผิว รองพื้น ครีมกันแดด ผลิตภัณฑ์กำจัดขน หรือลิปสติก โดยซิลิโคนมีข้อดีคือ มีความเป็นพิษค่อนข้างต่ำ ทนอุณหภูมิสูงได้ จุลินทรีย์ไม่สามารถใช้ซิลิโคนในการเจริญเติบโตได้ และยังทนทานต่อถูกการทำลายโดยรังสียูวี โอโซน และออกซิเจน

 

 

ซิลิโคนมีกี่ชนิดและแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?

ซิลิโคนที่ใช้ในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผมสามารถแบ่งได้เป็น 3กลุ่มใหญ่ ๆ ตามคุณสมบัติทางเคมี ดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 ซิลิโคนที่ไม่ละลายน้ำ เช่นไดเมทิโคน (dimethicone) และอะโมไดเมทิโคน(amodimethicone)ซิลิโคนกลุ่มนี้ถึงแม้จะไม่สามารถล้างออกได้ด้วยน้ำตามปกติแต่สามารถล้างออกได้ด้วยแชมพูสระผม
  • กลุ่มที่ 2 ซิลิโคนที่ละลายน้ำได้ เช่น ไซโคลไดเมทิโคน (cyclomethicone), ไดเมทิโคนโคโพลิออล (dimethicone copolyol), และกลุ่มที่มีสายซิลิโคนเชื่อมต่อกับ PEG ซิลิโคนกลุ่มนี้สามารถล้างออกได้ง่ายด้วยน้ำเปล่า
  • กลุ่มที่ 3 ซิลิโคนที่ระเหยได้ เช่น ไซโคลเพนตะซิโลเซน (cyclopentasiloxane) ซิลิโคนกลุ่มนี้ไม่ละลายน้ำแต่มีคุณสมบัติระเหยได้ไว มักใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องล้างออก เช่น เจลและเซรั่มบำรุงผม

 

ซิลิโคนไปทำอะไรกับเส้นผม?

การเติมซิลิโคนในผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมมีจุดประสงค์หลักเพื่อลดการเสียดสี ช่วยให้ผมหวีง่าย มีความนุ่มและลื่นขึ้น เส้นผมมีการเรียงตัวเป็นระเบียบ จัดทรงง่าย และสีผมไม่ซีดจาง ซิลิโคนกลุ่มที่ไม่ละลายน้ำ มีคุณสมบัติเคลือบเส้นผม ป้องกันการสูญเสียน้ำ และปกป้องเส้นผมจากความร้อน สารเคมี และมลภาวะต่าง ๆ ซิลิโคนกลุ่มที่ละลายน้ำได้ มีคุณสมบัติเคลือบปิดส่วนที่เสียหายของเส้นผม โดยจะเอาด้านประจุบวกของโมเลกุลไปจับกับบริเวณของเส้นผมที่เกิดความเสียหายเนื่องจากเป็นบริเวณที่มีประจุลบมากจึงเกิดการดึงดูดกันของประจุไฟฟ้า เส้นผมจึงดูเงางาม มีน้ำหนัก และสุขภาพดีขึ้น ส่วนผลิตภัณฑ์สำหรับผมทำสีนั้นมักจะมีส่วนผสมของซิลิโคนกลุ่มฟีนิลไดเมทิโคน (phenyl dimethicone)เนื่องจากฟีนิลไดเมทิโคนมีค่าดัชนีการหักเหแสงที่ใกล้เคียงกับเส้นผมตามธรรมชาติ จึงช่วยให้สีผมมีความเงางามโดดเด่น และไม่ซีดจาง

 

ใช้ซิลิโคนแล้วผมแห้งเสีย และอาจร้ายแรงถึงผมร่วง.....จริงมั้ย?

          ณ ปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยที่ระบุชัดเจนว่าซิลิโคนเป็นสาเหตุของผมแห้งเสีย และผมร่วง ส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมที่มีแนวโน้มทำให้ผมร่วงมากที่สุด น่าจะเป็นกลุ่มของสารลดแรงตึงผิวที่ทำให้เกิดฟองในแชมพู โดยเฉพาะสารในกลุ่มซัลเฟต เช่น โซเดียมลอริลซัลเฟต (Sodium lauryl sulfate หรือ SLS)ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง สำหรับผู้ที่กังวลที่ว่าซิลิโคนอาจจะตกค้างบนหนังศีรษะแล้วส่งผลเสียในระยะยาวเนื่องจากซิลิโคนบางชนิดล้างด้วยน้ำเปล่าไม่ออก ต้องไม่ลืมว่าถึงแม้ซิลิโคนบางกลุ่มจะไม่ละลายน้ำแต่ก็สามารถชะล้างออกได้ด้วยสารลดแรงตึงผิวที่อยู่ในแชมพู ลองมองหาแชมพูที่ปราศจากสาร SLSแต่มีสารลดแรงตึงผิวอื่น ๆ ที่อ่อนโยนกว่าทดแทน เช่น  สารโคคามิโดโพรพิวบีเทน (cocamidopropyl betaineหรือcoco betaine)ที่ได้จากน้ำมันมะพร้าว หรือครีมนวดผมที่ผสมซิลิโคนแบบที่สามารถละลายน้ำหรือระเหยได้ดูสิ หรืออาจเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากซิลิโคนไปเลย เพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องกังวลกับปัญหาซิลิโคนสะสมบนหนังศีรษะแล้ว

 

 

ซิลิโคนเหมาะ และไม่เหมาะกับใคร?

                ซิลิโคนเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาผมแห้งเสีย ชี้ฟู และผมทำสี รวมทั้งผู้ที่มีผมแข็งแรงที่ต้องการการปกป้องจากแสงแดด และมลภาวะต่าง ๆ ผู้ที่มีหนังศีรษะมันอาจจะไม่เหมาะกับผลิตภัณฑ์ที่หสมซิลิโคน เพราะอาจจะทำให้ผมยิ่งมัน และรู้สึกคันหรือไม่สบายหนังศีรษะ สำหรับเส้นผมที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีซิลิโคนคือ ผมที่ผ่านการดัด เนื่องจากผมด้านที่ถูกดัดจะมีความแห้งมากกว่า จึงพบการสะสมของซิลิโคนได้มากในบริเวณนี้ ส่งผลให้ผมมีน้ำหนักและทิ้งตัวมากขึ้นจนอาจดูไม่เป็นลอนตามความตั้งใจ

                เส้นผมมีความสำคัญต่อเราทั้งในทางตรงและทางอ้อม ผลิตภัณฑ์ที่เลือกใช้จึงควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่แน่ใจว่าจะไม่ทำร้ายทั้งเส้นผมและหนังศีรษะของเรา ถ้าหากคุณยังไม่แน่ใจว่าเจ้าซิลิโคนจะเป็นพระเอกหรือผู้ร้ายสำหรับคุณกันแน่ แนะนำให้เลือกใช้ซิลิโคนแบบล้างออกได้ง่ายด้วยน้ำน่าจะปลอดภัยกว่า หรือหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ผสมซิลิโคนไปเลย แล้วเลือกใช้ผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมธรรมชาติอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่เคลือบผม เช่น สเตียรามิโดโพรพิลไดเมทิลเอมีน (stearamidopropyl dimethylamine) ทดแทน เพื่อดูแลเส้นผมของเราให้แข็งแรง และนุ่มสลวยเงางามเป็นธรรมชาติกันค่ะ

 

ที่มา

Gray, J., & Thomas, J. (2010). Hair care. Textbook of Cosmetic Dermatology, 218-28.

 


Visitors: 1,069,138