รวม 7 คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับการขัดผิว

รวม 7 คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับการขัดผิว

คำถามที่ 1 ขัดผิวเพื่ออะไร?

การขัดหรือสครับผิว มีจุดประสงค์เพื่อขจัดสิ่งสกปรกและเซลล์ผิวชั้นนอกที่ตายหรือเสื่อมสภาพ ลดปัญหาการอุดตันในรูขุมขน และกระตุ้นการหมุนเวียนโลหิต ช่วยให้ผิวสดใสเปล่งปลั่ง และมีสุขภาพดี

 

คำถามที่ 2 ขัดผิวทุกวันดีมั้ย?

การขัดผิวบ่อยเกินไปอาจส่งผลเสียต่อผิวมากกว่าผลดี เนื่องจากน้ำมันตามธรรมชาติที่เคลือบผิวหนังได้ถูกชะล้างออกไปด้วย ซึ่งงอาจเป็นสาเหตุของความแห้งกร้าน หมองคล้ำ การขัดผิวที่บ่อยเกินไป และใช้เม็ดสครับที่หยาบหรือมีขอบคมอาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองและอักเสบ ในระยะยาวจะมีผลให้ผิวหนังบางลง  เกิดริ้วรอยได้ง่าย และดูแก่กว่าวัยอีกด้วย

 

คำถามที่ 3 ขัดผิวบ่อยแค่ไหนจึงจะดีที่สุด?

ความถี่ในการขัดผิวนั้นควรพิจารณาจากสภาพผิวเป็นสำคัญ ผู้ที่มีผิวบอบบางและแพ้ง่ายควรขัดผิวไม่เกิน 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนผู้ที่มีสภาพผิวธรรมดาและผิวผสมสามารถขัดผิวได้บ่อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์

 

คำถามที่ 4 ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สำหรับขัดผิวควรคำนึงถึงอะไรบ้าง?

การขจัดเซลล์ผิวชั้นนอกสุดสามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่ 1. วิธีทางกายภาพ โดยการขัดถูด้วยผลิตภัณฑ์ที่ผสมเม็ดสครับ 2.วิธีทางเคมี โดยใช้สารเคมีละลายเซลล์ที่ตายแล้วออกไป โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์มักมีส่วนผสมของเอนไซม์หรือกรดอ่อน เช่น เอเอชเอ (AHA), บีเอชเอ (BHA), กรดซาลิไซลิก (salicylic acis), และกรดไกลโคลิก (glycolic acid) ผู้ที่มีผิวธรรมดาและผิวผสมควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติช่วยผ่อนคลายและลดการอักเสบของผิวไปด้วยในตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ผสมโจโจบาบีดส์ (Jojoba beads), ผงถ่านไม้ไผ่, ชินามอน (cinnamon),และเอนไซม์จากผลไม้ผู้ที่มีผิวบอบบางและแพ้ง่าย ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเม็ดสครับที่อ่อนโยนต่อผิว เช่น โจโจบาบีดส์ หรือ ไมโครบีดส์จากแบมบูซิลิกา (bamboo silica beads)

 

คำถามที่ 5 ควรใช้ผลิตภัณฑ์อะไรหลังการขัดผิว?

ควรบำรุงผิวด้วยมอยเจอร์ไรเซอร์ทันทีหลังการขัดผิวเพื่อชดเชยน้ำและน้ำมันที่สูญเสียไป สำหรับผิวหน้าที่ต้องการการบำรุงเป็นพิเศษควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีสารอาหารเข้มข้น เช่น เซรั่ม เพื่อการฟื้นบำรุงที่ลึกถึงโครงสร้างผิว 

    

คำถามที่ 6 ไมโครบีดส์ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวอันตรายจริงหรือ?

ในสมัยก่อนนั้น “ไมโครบีดส์ (microbeads)” หรือเม็ดสครับ” ที่ผสมในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวมักผลิตจากพลาสติก เช่น โพลิเอทิลีน, โพลิพรอพิลีน, และอะคริเลท โคโพลิเมอร์ เป็นต้นเนื่องจากไมโครบีดส์มีขนาดเล็กจิ๋วตั้งแต่ 10 ไมครอน ถึง 1 มิลลิเมตร พวกมันจึงหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติได้อย่างง่ายดาย การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกอาจนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนาคต โดยอาจมีพิษต่อสัตว์น้ำขนาดเล็ก คุกคามความสมดุลของระบบนิเวศ และส่งผลร้ายต่อสุขภาพของมนุษย์ซึ่งอยู่ชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหารในที่สุด การตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาไมโครพลาสติกได้ผลักดันให้หลายประเทศกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก โดยรัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีคำสั่งห้ามการผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ผสมไมโครบีดส์พลาสติกตั้งแต่ปี 2560 ในขณะที่ประเทศไทยเองก็ได้มีประกาศห้ามการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดที่ผสมไมโครบีดส์พลาสติกตั้งแต่วันที่  1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา

 

คำถามที่ 7 เม็ดสครับทางเลือกที่เป็นมิตรต่อผิวและต่อสิ่งแวดล้อมมีอะไรบ้าง?

ลองมองหาผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากไมโครบีดส์พลาสติก (microbead-free) แต่มีส่วนผสมของเม็ดสครับที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่น

 - ข้าวโอ๊ต (oatmeal): ข้าวโอ๊ตมีความอ่อนโยนต่อผิว เหมาะกับผู้ที่มีผิวมันเนื่องจากสามารถดูดซับน้ำมันส่วนเกินได้อย่างดีเยี่ยมและยังมีคุณสมบัติต้านการอักเสบจึงช่วยลดการอักเสบของผิวจากปัญหาผิวต่าง ๆ ได้ดีอีกด้วย

 - แบมบูซิลิกาบีดส์ หรือ ทาบาเชียร์ (Tabasheer): ทาบาเชียร์เป็นของแข็งสีขาวโปร่งแสง มีซิลิกาเป็นองค์ประกอบหลัก พบได้บริเวณข้อต่อของต้นไผ่บางชนิด ทาบาเชียร์สามารถพบได้ในตำรับยาเก่าแก่ของอินเดียในปัจจุบันมีการนำมาใช้เป็นเม็ดสครับเพื่อขจัดเซลล์ผิวชั้นนอกและกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน

 - โจโจบาบีดส์ และไรซ์บรานบีดส์ (rice bran beads): โจโจบาบีดส์ผลิตจากน้ำมันเมล็ดโจโจบา (Jojoba oil) ในขณะที่ไรซ์บรานบีสด์ผลิตจากน้ำมันรำข้าวเหมาะสำหรับผิวบอบบางและแพ้ง่าย เม็ดสครับมีลักษณะกลมมน ผิวเรียบเนียนใกล้เคียงกับไมโครบีดส์พลาสติก จึงอ่อนโอนและไม่ทิ้งรอยขีดข่วนไว้บนผิว

 - กาแฟบด(ground coffee): กาแฟบดมีผิวค่อนข้างหยาบจึงขัดผิวได้อย่างล้ำลึก นอกจากนั้นในกาแฟยังมีสารต้านอนุมูลอิสระเป็นจำนวนมาก จึงช่วยให้ผิวสว่างใส ดูอ่อนกว่าวัย และช่วยให้รอยแตกลายที่ผิวจางลง

 - อัลมอนด์บด(groundalmond): ประสิทธิภาพของผงอัลมอนด์ขึ้นอยู่กับความละเอียดของการบด ผงอัลมอนด์บดละเอียดจะมีความอ่อนโยนต่อผิวมากกว่าผงหยาบ นอกจากการช่วยทำความสะอาดผิวได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว น้ำมันในอัลมอนด์ยังทำหน้าที่เป็นมอยส์เจอร์ไรเซอร์ ช่วยให้ผิวหลังการขัดเนียนนุ่มชุ่มชื้นขึ้นอย่างชัดเจน 

 - เกลือ (salt): ผลึกของเกลือมีขอบค่อนข้างคมจึงไม่เหมาะกับผิวหน้า แต่เหมาะกับการขัดผิวบริเวณที่หนาและหยาบกร้าน เช่น ฝ่าเท้า หัวเข่า ข้อศอก หรือผิวกายมากกว่า เกลือสามารถขจัดสิ่งสกปรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยกำจัดสารพิษต่าง ๆ ที่ตกค้างบนผิว รวมทั้งกระตุ้นการหมุนเวียนโลหิตบริเวณผิวหนังอีกด้วย

 - น้ำตาลทราย(sugar): น้ำตาลเป็นแหล่งของกรดไกลโคลิก (glycolic acid) ตามธรรมชาติ การใช้น้ำตาลขัดผิวจึงเป็นการกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่และกำจัดโปรตีนตกค้างจากเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ อย่างไรก็ตามสครับน้ำตาลมีความอ่อนโยนต่อผิวน้อยกว่าเม็ดสครับชนิดอื่น จึงควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันหรือน้ำผึ้งอยู่ด้วย เนื่องจากจะช่วยให้เนื้อสครับมีความอ่อนโยนต่อผิวมากขึ้น

 - เปลือกเมล็ดวอลนัทบด(ground walnut): เปลือกเมล็ดวอลนัทบดมีประสิทธิภาพในการขจัดสิ่งสปกรกสูง แต่เนื่องจากมีผิวค่อนข้างหยาบจึงเหมาะกับผิวกายมากกว่าผิวหน้า และไม่เหมาะกับผู้ที่มีผิวบอบบางและแพ้ง่าย

 

 

 


Visitors: 1,075,598