“ล้างมือ” อย่างไรให้ห่างไกลจาก “เชื้อโรค”?
“ล้างมือ” อย่างไรให้ห่างไกลจาก “เชื้อโรค”?
ตอนที่ 1 ประวัติศาสตร์การล้างมือ
การสูญเสีย
เมื่อราว 180 ปีก่อน ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเวียนนาประเทศออสเตรียได้เกิดเหตุการณ์การเสียชีวิตหลังการคลอดบุตรของหญิงสาวเป็นจำนวนมาก หญิงสาวเหล่านี้แสดงอาการ “ภาวะไข้หลังคลอด (puerperal fever หรือ childbed fever)” ซึ่งพบอักเสบอย่างรุนแรงภายในช่องท้อง และมีไข้สูงก่อนเสียชีวิต ในสมัยนั้นผู้คนมีความเชื่อว่าการเสียชีวิตของหญิงสาวเหล่านี้มีสาเหตุจากอากาศพิษ เนื่องจากโลกยังไม่รู้จักกับคำว่า “เชื้อโรค” และโรคที่เกิดจากเชื้อโรค สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ โรงพยาบาลดังกล่าวมีการทำคลอดอยู่สองตึกด้วยกัน โดยจะสลับวันกันรับคนไข้ แต่มีเฉพาะการเสียชีวิตของคุณแม่หลังคลอดในตึกที่ 1 เท่านั้นที่สูงขึ้นและสูงกว่าตึกที่ 2 ถึง 10 เท่า โดยอัตราการเสียชีวิตในตึกที่ 1 สูงถึง 18% ในขณะที่ตึกที่ 2 มีอัตราการเสียชีวิตเพียง 2% คุณหมอIgnaz Philipp Semmelweis ซึ่งทำหน้าที่เป็นสูตินรีแพทย์ในขณะนั้นได้เกิดความสงสัยว่าเหตุใดอัตราการตายของคุณแม่หลังคลอดในทั้งสองตึกจึงแตกต่างกันมาก ทั้ง ๆ ที่สภาพแวดล้อมของทั้งสองตึกไม่มีอะไรที่แตกต่างกัน ยกเว้นเพียงแค่ในตึกที่ 1 ที่พบอัตราการตายสูงนั้น มีการทำคลอดโดยแพทย์ และนักศึกษาแพทย์ ส่วนตึกที่ 2 ทำคลอดโดยพยาบาลผดุงครรภ์ ซึ่งบุคลากรทั้งสองกลุ่มต่างมีวิธีการทำคลอดที่เหมือนกัน
การค้นพบสมมติฐาน
จนกระทั่งวันหนึ่งคุณหมอ Semmelweis ได้สูญเสียเพื่อนร่วมงานไป เนื่องจากเพื่อนร่วมงานของท่านได้ถูกมีดผ่าตัดบาดมือระหว่างการชันสูตรศพคนไข้ที่เสียชีวิตด้วยภาวะไข้หลังคลอด ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานได้เกิดการติดเชื้อและเสียชีวิตลง คุณหมอ Semmelweis ผู้รับหน้าที่เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพได้สังเกตว่าทั้งอาการป่วย และพยาธิสภาพของศพมีความคล้ายคลึงกับคนไข้ที่เสียชีวิตจากภาวะไข้หลังคลอดเป็นอย่างมาก ซึ่งการแพทย์ในสมัยนั้นมีความเข้าใจว่าโรคนี้เกิดขึ้นกับเฉพาะกับผู้หญิงหลังคลอดเท่านั้น คุณหมอ Semmelweis จึงเกิดคำถามขึ้นว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ เป็นไปได้มั้ยว่าน่าจะมีอนุภาคอะไรบางอย่างที่นำพาโรคจากคนไข้ที่เสียชีวิตมายังเพื่อนคุณหมอของท่านระหว่างการผ่าตัด?
อนุภาคที่ไม่รู้จักจากซากศพ
คุณหมอ Semmelweis ได้กลับไปคิดทบทวนหาคำตอบ สาเหตุของอัตราการตายที่เพิ่มขึ้นของคนไข้หลังคลอด การตายของเพื่อนร่วมงาน และวิธีการทำงานของหมอและนักเรียนแพทย์ที่ต่างจากพยาบาลผดุงครรภ์ ก็พบว่า มันมีความเป็นไปได้ที่จะมีอนุภาคอะไรบางอย่างจากซากศพที่ติดต่อไปยังคนไข้ระหว่างการทำคลอด และทำให้เกิดภาวะไข้หลังคลอด และผู้ที่นำพาอนุภาคนั้นไปยังคนไข้ก็คือ แพทย์และนักศึกษาแพทย์นั่นเอง เนื่องจากมีเพียงแพทย์และนักศึกษาแพทย์ที่ต้องปฏิบัติงานชันสูตรพลิกศพ ในขณะที่พยาบาลผดุงครรภ์ไม่ต้องทำ และช่วงเวลาที่มีอัตราการตายเพิ่มขึ้นนี้ยังสอดคล้องกับช่วงหลังจากที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประกาศนโยบายให้แพทย์และนักศึกษาแพทย์ปฏิบัติการชันสูตรพลิกศพคนไข้ที่เสียชีวิต เพื่อศึกษาพยาธิวิทยาของโรคให้เข้าใจมากขึ้น ซึ่งในสมัยนั้นหลังการชันสูตรพลิกศพเหล่าบรรดาแพทย์มีเพียงผ้าผืนเล็ก ๆ ที่ใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าสำหรับเช็ดมือก่อนเข้าไปทำงานในห้องคลอด ซึ่งผ้าผืนเล็ก ๆนี้นอกจากจะไม่เพียงพอในการจำกัดอนุภาคที่คุณหมอ Semmelwis เรียกว่า “อนุภาคที่ไม่รู้จักจากซากศพ” แล้ว ยังอาจแหล่งสะสมของอนุภาคที่น่ากลัวนี้อีกด้วย
ความสำเร็จ
เพื่อพิสูจน์สมมิตฐาน คุณหมอ Semmelwis ได้ประกาศนโยบายให้แพทย์ที่ออกจากห้องชันสูตรพลิกศพต้องล้างมือด้วยน้ำผสมคลอรีนทุกครั้ง ซึ่งผลที่ตามมาก็คืออัตราการตายของคุณแม่หลังคลอดในตึกที่ 1 ที่ลดลงกว่า 10 เท่า อันเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญชิ้นแรกที่ระบุว่าการทำความสะอาดมือสามารถลดอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะการติดเชื้อหลังคลอดและการเสียชีวิตของมารดาได้อย่างชัดเจน ซึ่งส่งผลให้คุณหมอ Semmelwis เป็นที่รู้จักในฐานะ “ผู้บุกเบิกการทำหัตถการปลอดเชื้อ” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ที่มา
Mathur, P. (2011). Hand hygiene: back to the basics of infection control. The Indian journal of medical research, 134(5), 611.
Stone, S. P. (2001). Hand hygiene—the case for evidence-based education. Journal of the Royal Society of Medicine, 94(6), 278-281.