มาทำความรู้จักกับ Hya

มาทำความรู้จักกับ Hya

Hya คืออะไร?

Hya หรือ ไฮยา เป็นชื่อเรียกของกรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic acid; HA)หรือบางครั้งอาจถูกเรียกว่าไฮยาลูโรแนน (Hyaluronan) กรดไฮยาลูรอนิกมีลักษณะเหนียวใสและมีความยืดหยุ่นสูงคล้ายเจลลี่ มีโครงสร้างเป็นพอลิเมอร์สายตรงและยาวของน้ำตาลโมเลกุลคู่ (disaccharide) ที่ชื่อว่าไกลโคซามิโนไกลแคน (glycosaminoglycan หรือ GAG) โดยไกลโคซามิโนไกลแคน 1 โมเลกุล ประกอบด้วยกรดกลูคิวโรนิก (glucuronic acid) และแอซีติลกลูโคซามีน (acetylglucosamine) อย่างละ 1 โมเลกุลเชื่อมต่อกัน ในสายพอลิเมอร์หนึ่งสายอาจมีไกลโคซามิโนไกลแคนได้มากถึง 10,000 โมเลกุล คิดเป็นขนาดประมาณ 4 ล้านดาลตัน ซึ่งอาจยาวได้ถึง 10 ไมครอนเลยทีเดียว

 

ชีววิทยาของกรดไฮยาลูโรนิก

1. กรดไฮยาลูโรนิกเป็นสารชีวโมเลกุลที่ร่างกายสังเคราะห์ได้เอง โดยสามารถพบได้มากบริเวณเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน, เนื้อเยื่อบุผิว, และเนื้อเยื่อประสาท

2. ในร่างกายของผู้ที่มีน้ำหนักตัว 70 กิโลกรัมจะมีกรดไฮยาลูโรนิกประมาณ 15 กรัมซึ่งเมื่ออายุมากขึ้นอัตราการสังเคราะห์กรดไฮยาลูโรนิกจะค่อย ๆ ลดลง จนเมื่อถึงอายุประมาณ 50-60 ปี การสังเคราะห์กรดไฮยาลูโรนิจะน้อยกว่าช่วงที่เป็นวัยรุ่นถึงสองเท่าตัว

3. 50% ของกรดไฮยาลูโรนิกที่ร่างกายสังเคราะห์จะพบอยู่ที่ผิวหนัง ทั้งในชั้นหนังแท้ (dermis) และหนังกำพร้า (epidermis) ส่วนที่เหลือพบเป็นส่วนประกอบหลักของน้ำไขข้อ (Synovial joint fluid), น้ำวุ้นตา (eye vitreous), และเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบสายสะดือ (Wharton’s jelly)

4.กรดไฮยาลูโรนิกที่บริเวณต่าง ๆ จะมีอายุขัยแตกต่างกันไป โดยกรดไฮยาลูโรนิกที่ผิวหนังมีอายุประมาณ 24 ชั่วโมง ในแต่ละวันจะมีกรดไฮยาลูโรนิกประมาณ 1 ใน 3 ของร่างกายที่ถูกทำลายและถูกสังเคราะห์ขึ้นใหม่

 

บทบาทและหน้าที่ของกรดไฮยาลูโรนิกในร่างกาย

กรดไฮยาลูโรนิกเป็นสารชีวโมเลกุลที่ “ชอบน้ำ” ทำหน้าที่สนับสนุนโครงสร้างของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย และเป็นโมเลกุลตัวรับและส่งต่อสัญญาณต่าง ๆ ในระดับเซลล์ โดยกรด1กรัม สามารถอุ้มน้ำได้ถึง 1000กรัมเลยทีเดียวจึงไม่น่าแปลกใจที่กรดไฮยาลูโรนิกจะถูกยกให้เป็นมอยส์เจอร์ไรเซอร์ชั้นเลิศ มากไปกว่านั้นกรดไฮยาลูโรนิกยังมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ และช่วยสมานบาดแผลที่บริเวณผิวหนังโดยการกระตุ้นให้เซลล์ไฟโบรบลาสต์สังเคราะห์คอลลาเจนมากขึ้น ในด้านการแพทย์นั้นกรดไฮยาลูโรนิกได้ถูกใช้เป็นน้ำข้อเข่าเทียมเพื่อรักษาอาการปวดในผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อม และใช้เป็นสารหล่อลื่นระหว่างการผ่าตัดดวงตา

กรดไฮยาลูโรนิกที่ใช้ทางการแพทย์และการผลิตเครื่องสำอางมาจากไหน?

กรดไฮยาลูโรนิกนั้นนอกจากจะพบได้ในร่างกายมนุษย์แล้วยังสามารถพบได้ในสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่น กระต่าย, วัว, ไก่, แบคทีเรีย, จุลสาหร่าย, ยีสต์, และหอยชนิดต่าง ๆ เป็นต้น การผลิตกรดไฮยาลูโรนิกเชิงพาณิชย์ในยุคแรกนั้นเป็นการสกัดจากส่วนต่าง ๆ ของสัตว์เช่นหงอนไก่ และวุ้นลูกตาของวัว ซึ่งให้ผลผลิตน้อยจึงไม่สามารถตอบสนองต่อปริมาณความต้องการของผู้ใช้ และมีอายุการใช้งานสั้นเนื่องจากมักมีการปนเปื้อนของเอนไซม์ไฮยาลูโรนิเดส (hyaluronidase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ย่อยสลายกรดไฮยาลูโรนิกจากเซลล์สัตว์เอง สำหรับกรดไฮยาลูโรนิกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นได้จากกระบวนการหมักของแบคทีเรีย ซึ่งให้ผลผลิตสูง และมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับกรดไฮยาลูโรนิกที่สังเคราะห์จากสัตว์จึงสามารถเข้ากับร่างกายของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

 

ประสิทธิภาพของกรดไฮยาลูโรนิกในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว

กรดไฮยาลูโรนิกได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวทั้งแบบเจล, อิมัลชัน, เซรั่ม, และเป็นส่วนประกอบของสารเติมเต็มสำหรับฉีด (filler) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชะลอการชราภาพของผิวหนัง, เพิ่มความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นให้กับชั้นผิว, และลดริ้วรอยเหี่ยวย่นและรอยแผลเป็นที่ผิวหนัง โดยอาจพบได้ทั้งรูปของกรดไฮยาลูโรนิก หรือโซเดียมไฮยาลูโรเนท (sodium hyaluronate) ซึ่งมีคุณสมบัติให้ความชุ่มชื้นได้อย่างดีเยี่ยมไม่แตกต่างกัน แต่โมเลกุลโซเดียมไฮยาลูโรเนทจะซึมสู่ผิวได้ดีกว่า สำหรับประสิทธิภาพการบำรุงผิวของกรดไฮยาลูโรนิกนั้นจะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ

1. ขนาดโมเลกุล: เนื่องจากกรดไฮยาลูโรนิกตามธรรมชาตินั้นมีขนาดโมเลกุลค่อนข้างใหญ่ ความสามารถในการแทรกซึมเข้าสู่ผิวชั้นหนังแท้จึงน้อยมาก การทากรดไฮยาลูโรนิกที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่จึงเป็นเพียงการเคลือบเพื่อปกป้องผิวไม่ให้สูญเสียน้ำเสียมากกว่า การฉีดกรดไฮยาลูโรนิก (HA filler) ไปที่ชั้นหนังแท้โดยตรงจึงวิธีการที่ให้ผลลัพธ์ดีที่สุด และสามารถคงประสิทธิภาพได้นานตั้งแต่ 3 ถึง 24 เดือน ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารเติมเต็มที่ใช้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์สามารถลดขนาดของกรดไฮยาลูโรนิกลงได้ถึง 50 ถึง 400 กิโลดาลตัน  ซึ่งพบว่ากรดไฮยาลูโรนิกที่มีขนาดโมเลกุลเล็กลงสามารถแทรกซึมลงสู่ชั้นหนังแท้ได้ดีขึ้นและมีผลให้ริ้วรอยที่ผิวลดลงอย่างมีนัยสำคัญได้เช่นกัน โดยผู้ซื้ออาจสังเกตได้จากคำว่า “Low Molecular Weight Hyaluronic Acid (LMW-HA)” หรือ “Hyaluronic Acid Fragment (HAF)” ที่บริเวณฉลากของผลิตภัณฑ์

2. ความคงตัว: กรดไฮยาลูโรนิกนั้นสามารถถูกทำลายได้ง่ายด้วยเอนไซม์ไฮยาลูโรนิเดสที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้น หรือหลั่งโดยแบคทีเรียบางชนิด เช่น Staphylococcus aureus, Streptococcus pyogenes et pneumoniae และ Clostridium perfringens นอกจากนั้นยังสามารถถูกทำลายได้ด้วยสารอนุมูลอิสระต่าง ๆ ทั้งที่เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น รังสียูวี, สารเคมี, และฝุ่นควัน และปัจจัยภายใน เช่น การสูบบุหรี่ และความเครียด เป็นต้น การหลีกเลี่ยงมลภาวะต่าง ๆ หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ปกป้องแสงแดดจึงเป็นการช่วยยืดอายุการทำงานของกรดไฮยาลูโรนิกที่ชั้นผิวหนังให้รักษาความหยืดหยุ่นชุ่มชื้น และคงความอ่อนเยาว์ไว้ได้นานยิ่งขึ้น

 

 

 

ที่มา:

Fallacara, A., Baldini, E., Manfredini, S., & Vertuani, S. (2018). Hyaluronic acid in the third millennium. Polymers, 10(7), 701.

Necas, J. B. L. B. P., Bartosikova, L., Brauner, P., & Kolar, J. (2008). Hyaluronic acid (hyaluronan): a review. Veterinarni medicina, 53(8), 397-411.

มาทำความรู้จักกับ HyaHya คืออะไร?

Hya หรือ ไฮยา เป็นชื่อเรียกของกรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic acid; HA)หรือบางครั้งอาจถูกเรียกว่าไฮยาลูโรแนน (Hyaluronan) กรดไฮยาลูรอนิกมีลักษณะเหนียวใสและมีความยืดหยุ่นสูงคล้ายเจลลี่ มีโครงสร้างเป็นพอลิเมอร์สายตรงและยาวของน้ำตาลโมเลกุลคู่ (disaccharide) ที่ชื่อว่าไกลโคซามิโนไกลแคน (glycosaminoglycan หรือ GAG) โดยไกลโคซามิโนไกลแคน 1 โมเลกุล ประกอบด้วยกรดกลูคิวโรนิก (glucuronic acid) และแอซีติลกลูโคซามีน (acetylglucosamine) อย่างละ 1 โมเลกุลเชื่อมต่อกัน ในสายพอลิเมอร์หนึ่งสายอาจมีไกลโคซามิโนไกลแคนได้มากถึง 10,000 โมเลกุล คิดเป็นขนาดประมาณ 4 ล้านดาลตัน ซึ่งอาจยาวได้ถึง 10 ไมครอนเลยทีเดียว

Visitors: 1,069,192