สารสกัดข้าวไรซ์เบอร์รี่

สารสกัดข้าวไรซ์เบอร์รี่

  • สารสกัดข้าวไรซ์เบอร์รี่คืออะไร?

                เป็นสารสกัดที่ได้จากการสกัดส่วนเยื่อหุ้มเมล็ดและจมูกข้าวของข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งเป็นส่วนที่มีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และแร่ธาตุสูง โดยสารสกัดข้าวไรซ์เบอร์รี่มีความโดดเด่นคือ ประกอบไปด้วยสารประกอบฟีนอลิค (Phenolic componds) หลากหลายชนิดในปริมาณสูง โดยสารประกอบฟีนอลิคที่พบในสารสกัดข้าวไรซ์เบอร์รี่สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 1. กลุ่มกรดฟีนอลิค (Phenolic acid) ได้แก่ Gallic acid, Syringic acid, Ellagic acid, และ Chlorogenic acid และ 2. กลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ได้แก่ สารประกอบจำพวกฟลาวานอล (Flavanol), ฟลาโวนอล (Flavonol), และแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) นอกจากนั้นยังพบสารประกอบรีซอร์ซินอล (Resorcinol), เบต้าแคโรทีน (β-Carotene) แกมมาออริซานอล (γ-Oryzanol), ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triacylglycerol), ธาตุเหล็ก (Iron) และสังกะสี (Zinc) ในสารสกัดข้าวไรซ์เบอร์รี่อีกด้วย  

  • ผลการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ

                พบฤทธิ์ต้านออกซิเดชันจากการทดสอบสารสกัดข้าวไรซ์เบอร์รี่ด้วยวิธี DPPH radical scavenging โดยสารสกัดข้าวไรซ์เบอร์รี่เข้มข้น 2.33 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรสามารถยับยั้งอนุมูลอิสระได้ถึง 50% และไม่พบความเป็นพิษต่อเซลล์สัตว์จากผลการทดสอบด้วยเซลล์เพาะเลี้ยง (Vero cell)ที่ความเข้มข้นของสารสกัด 50   ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร[1]

  • ผลจากงานศึกษาวิจัยอื่นๆ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ

                จากผลการวิเคราะห์องค์ประกอบของสารสำคัญต่าง ๆ ในสารสกัดข้าวไรซ์เบอร์รี่ร่วมกับการศึกษาฤทธิ์ของสารต่าง ๆ ในทางเวชสำอาง (Cosmeceutical) ที่มีการเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ สามารถสรุปได้ว่าสารสกัดข้าวไรซ์เบอร์รี่มีความเหมาะสมในการใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์บำรุง เสริมสร้างความแข็งแรงของผิว ฟื้นฟูเซลล์ผิวหลังถูกทำลายโดยรังสีอัลตราไวโอเลต และลดปัญหาสิว เนื่องจาก

1. มีสารประกอบฟีนอลิคในปริมาณที่สูง โดยสารประกอบฟีนอลิคมีประสิทธิภาพในการกำจัดสารอนุมูลอิสระ (Anti-oxidant) ลดการอักเสบของผิว (Anti-inflammation) ชะลอการเกิดริ้วรอยและความเหี่ยวย่น (Anti-aging) และยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ (Anti-microbial) นอกจากนั้นสารประกอบฟีนอลิคกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่พบมากในสารสกัด ยังมีการรายงานว่าสามารถเพิ่มความแข็งแรงให้กับหลอดเลือดฝอย (Capillary vessel) ส่งเสริมการสมานแผลตามธรรมชาติ (Wound healing) และยังช่วยป้องกันอันตรายจากการได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตได้อีกด้วย[2, 3, 4] นอกจากนั้นสารเบต้าแคโรทีนและแกมมาโอรีซานอลที่พบในสารสกัดเองก็มีคุณสมบัติในการกำจัดอนุมูลอิสระเช่นกัน โดยเบต้าแคโรทีนยังมีความสามารถในการช่วยลดอาการไหม้แดง(Erythema) หลังได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตได้อีกด้วย[5, 6]

2. มีสารรีซอร์ซินอล (Resorcinol) ซึ่งเป็นสารประกอบกลุ่มฟีนอลที่มีคุณสมบัติในการลดการอักเสบของสิวโดยเฉพาะสิว inversa ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมเหงื่อ (Hidradenitis suppurativa)[7] สารรีซอร์ซินอลนี้พบได้ยากตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตามมีการรายงานว่าพบสารประกอบนี้เช่นกันในน้ำมันสกัดจากเมล็ดอาร์แกน (Argan oil)[8] **รีซอร์ซินอลเป็นสารควบคุมพิเศษ อนุญาตให้มีในผลิตภัณฑ์ได้ไม่เกิน0.5%**

3. มีไตรกลีเซอไรด์ (Triacylglerol) ซึ่งมีคุณสมบัติในการรักษาความชุ่มชื้น ชะลอการเกิดริ้วรอย และทำให้ผิวมีความนุ่มนวล (Emollient)[9]

4. มีธาตุเหล็กและสังกะสี โดยการได้รับธาตุเหล็กในปริมาณที่เหมาะสมสามารถช่วยฟื้นฟูและสร้างเซลล์ผิวหนังใหม่ (Skin regeneration) ได้ และยังมีส่วนในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนคอลลาเจน ส่วนธาตุสังกะสีมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ และช่วยให้เซลล์ไฟโบรบลาสต์ (Fibroblast) ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีหน้าที่ผลิตเส้นใยโปรตีนคอลลาเจนและอิลาสติน ทนต่อรังสีอัลตราไวโอเลตได้มากขึ้น[10, 11]

 

อ้างอิงจาก

[1] ผลการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ Cytotoxicity against Vero cell (African green monkey kidney fibroblast)

 [2] Encapsulation of natural polyphenolic compounds; a review. Pharmaceutics 2011

[3] Phytosome: A Novel Approach Towards Functional Cosmetics ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Plant Sciences ปี 2007

[4] Rice antioxidants: phenolic acids, flavonoids, anthocyanins, proanthocyanidins, tocopherols, tocotrienols, γ‐oryzanol, and phytic acid ตีพิมพ์ในวารสาร Food science & nutrition ปี 2014

[5]Skin photoaging and the role of antioxidants in its prevention ที่ตีพิมพ์ในวารสาร ISRN dermatology ปี2013

[6] Antioxidant Potential of Ferulic Acid ตีพิมพ์ในวารสาร Free Radical Biology & Medicine ปี 1992

[7] Resorcinol peels as a possible self-treatment of painful nodules in hidradenitis suppurativa ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Clinical and Experimental Dermatology: Clinical dermatology ปี 2010

[8] Argan oil: Occurrence, composition and impact on human health ที่ตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Lipid Science and Technology ปี 2008

 [9] The cosmetic treatment of wrinkles ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Cosmetic Dermatology ปี 2004

 [10] Skin Photoaging and the Role of Antioxidants in Its Prevention ที่ตีพิมพ์ในวารสาร ISRN Dermatology ปี 2013

[11] Hiden Metals in Sevral Brands of Lipstick and Face Powder Present on Polish Market ตีพิมพ์ในวารสาร Cosmetics ปี 2018

Visitors: 1,075,633